จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

สงคราม-วิกฤตเด็ก เยาวชน

สงครามและความหวัง
           ทุกๆปีในเดือนมกราคม ผมจะตั้งปฏิทินชีวิตไว้จะต้องอ่านชีวประวัติของนักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองตุริน ที่ยอมพลีทั้งชีวิตเพื่ออบรม และเลี้ยงดูเด็กยากจน เด็กเร่ร่อน ซึ่งบางรายก็เข้าข่ายอันธพาลให้กลับตัวกลับใจเป็นคนดี เป็นพลเมืองที่ดีของชาติบ้านเมือง
 ภาพจากนิตยสารดอนบอสโก ธ.ค.54
         
          เพื่อเติมเชื้อไฟในหัวใจของผมให้มันลุกโชติช่วงและมีพลังอยู่เสมอในการดำเนินชีวิตนี้
            และผมก็คิดเออออเอาเองว่า สังคมในยุคนี้ สถาบันครอบครัวในเวลานี้ต้องการพ่อแม่ และครูที่มีอุดมคติ(อุดมการณ์) หรือปณิธานแบบท่านนักบุญท่านนี้
            ที่ผมต้องคิดอย่างนั้นก็เพราะมันมีเหตุปัจจัย ปัญหาและสถานการณ์เกี่ยวกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษาอบรม ที่ใช้เทียบเคียงกันได้จนแทบจะแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกันก็ว่าได้
            ถ้าหากว่าวัฒนธรรมสังคมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไม่ก้าวมาไกลสุดกู่เหมือนทุกวันนี้
            ท่ามกลางเหตุการณ์ที่อาจเรียกว่า สงครามกลางเมือง หรือ สงครามยุคปฏิรูปในยุโรปในปี ค.ศ.1848 นั้น ท่านนึกภาพออกหรือไม่ว่าลำพังนักบวชคาทอลิกที่ยากจนคนหนึ่ง กับมารดาที่ชรามากแล้วของตน สามารถที่จะปกป้องเด็กเยาวชนในการดูแลของท่านให้รอดพ้นจากเภทภัยของสงคราม  อิทธิพลของการเมืองและความเลวร้ายของสังคมที่เสื่อมทรามได้อย่างไร?
            เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นผมขอเล่าโดยสรุปง่ายๆดังนี้
            ในช่วงปี ค.ศ.1848 นั้นยุโรปแบ่งออกเป็น 3 พวก คือ พวกเสรีนิยมที่เรียกร้องประชาธิปไตย  พวกชาตินิยมที่เรียกร้องอิสรภาพจากจักรวรรดิออสเตรเลีย และพวกกรรมกรที่ต้องการปฏิรูปการจ้างงาน ทั้ง 3 พวกนี้แหละที่ก่อหวอด เรียกร้อง ฆ่าฟันเพื่อล้มล้างระบอบกษัตริย์ ต่อสู้กันทุกรูปแบบจนเกิดโกลาหลสับสนวุ่นวายไปทั่วทั้งราชอาณาจักรและศาสนจักร
           ตามท้องถนนมีแต่เสียงตะโกนเรียกร้อง “สงคราม สงคราม และสงคราม..”
นักบุญยอห์น บอสโก
     ในประวัติของท่านนักบุญยอห์นบอสโกเล่าว่า บรรดาเยาวชนที่กระหายสงครามใช้ทั้งมีด ปืนผาหน้าไม้ ก้อนอิฐก้อนหิน เป็นอาวุธเข้าประหัตประหารกันไม่เว้นแต่ละวัน
      บรรดานักบวช และวัดวาอารามที่พักถูกบุกเข้ายึดขับไล่ ชนิดไม่รู้บาปบุญคุณโทษกันล่ะ
      เวลานั้นท่านนักบุญได้ใช้ศูนย์เยาวชน ที่วัลด็อกโกเป็นสถานที่ดูแลเด็กๆของท่าน และท่านก็มีเพื่อนคนหนึ่งเป็นนายทหารชื่อ นายยอแซฟ โบรซีอา
      วันหนึ่งนายยอแซฟคนนี้ก็แต่งชุดทหารเต็มยศ เดินด้วยท่าทีองอาจมาที่ศูนย์เยาวชนของท่าน ทำให้ท่านนักบุญเกิดความคิดที่ “จะใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส” และแปลง “ปัญหาให้เป็นปัญญา” เพื่อประโยชน์แก่เด็กๆและเยาวชนทั้งหลายที่กำลังตกอยู่ในภาวะแวดล้อมของสงคราม
            ท่านนักบุญจึงเสนอให้นายยอแซฟเป็นครูฝึกการละเล่นแบบใหม่(ในเวลานั้น)สำหรับเด็กหนุ่มวัยรุ่นที่กำลังถูกกระแสสงคราม และสังคมที่เสื่อมทรามรุกคืบเข้าครอบงำจิตใจอยู่
            นายยอแซฟจึงเปิดรับสมัครเด็กหนุ่มเยาวชนทั้งหลาย เข้ามาสังกัดกองทัพน้อยๆในศูนย์เยาวชนวัลด็อกโก จากนั้นใช้ปืน(จริงเก่าๆของทางราชการ)ติดลำกล้องไม้(จึงยิงไม่ได้) ให้เป็นอาวุธประจำกายของเด็กหนุ่มผู้ห้าวหาญทั้งหลาย
            จากนั้นก็เริ่มฝึกระเบียบแถว กำลังกาย การรุกการรับ ซ้อมรบกันเองอุตลุดวันแล้ววันเล่า(ตามยุทธวิธีทหารหรือเสือป่า ว่าอย่างงั้นก็น่าจะได้)จนเด็กหนุ่มเกิดความแคล่วคล่องว่องไว เป็นระเบียบ และมีวินัยในตัวเองกันถ้วนทั่ว
ภาพจากนิตยสารดอนบอสโก ธ.ค.54
          
  ฝ่ายท่านนักบุญก็เติมพลังฝ่ายคุณธรรม จิตวิญญาณ ความรักดีให้กับกองกำลังน้อยๆตามวิธีการที่ท่านถนัดก็คือ ชวนให้สวดภาวนาขอบคุณพระเจ้า เล่าเรื่องสั้น(นิทาน)เตือนจิตใจ เอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด ด้วยความรัก ความอ่อนโยน และความรู้ความเข้าใจเด็กแต่ละคนเป็นอย่างดี
            เหมือนการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และระบบดูแลช่วยเหลือเด็กเป็นรายบุคคลของ กระทรวงศึกษาธิการนั่นแหละครับ จะแตกต่างกันก็ตรงที่ท่านนักบุญท่านทำจริงทำจังทำด้วยชีวิตและจิตมุ่งมั่นในความรักที่จะช่วยให้เด็กของท่านได้รอดปลอดภัยทั้งกายและวิญญาณ
         และท่านเรียกวิธีการง่ายๆในการอบรมดูแลเด็กเยาวชนของท่านว่า “ระบบป้องกัน”(Preventive System)กล่าวคือ ท่านจะหาวิธีดูแลป้องกันก่อนที่เด็กจะสร้างปัญหา หรือมีปัญหา
          ท่านไม่รอให้เด็กก่อปัญหา หรือทำผิดแล้วมาตามแก้อย่างที่พ่อแม่ในสังคมปัจจุบันมักทำกัน(คือถ้าไม่มีปัญหาก็ยังไม่คิดทำอะไร จนกว่าปัญหาจะเกิด เช่น ลูกติดยา ติดเกมส์ เกเรหนีเรียนฯลฯ แล้วจึงมาหาทางแก้ไขภายหลัง)
            แต่ท่านนักบุญทำทั้ง “รุกและรับอย่างเข้าใจเด็กเยาวชนและสังคม” ท่านจึงชนะโดยไม่ต้องรบไงครับ
          งานวิจัยของสถาบันรามจิตติ(2554) พบว่าเด็กและเยาวชนในปัจจุบันนี้ มี “จุดอันตราย” อยู่ในช่วงมัธยมต้น โดยช่วง ม.2-ม.3 เป็นช่วงที่วิกฤตสุดหากเด็กสามารถผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ ก็จะสามารถปรับตัวและมีทักษะชีวิตที่ดี ตัดสินใจทำสิ่งที่ถูกต้อง เป็นเหตุเป็นผลได้ดีขึ้น
           และต้นเหตุสำคัญก็คือ “พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก” มีเด็ก 10-15% ตกเย็นเลิกเรียนกลับมาแล้วต้องอยู่บ้านคนเดียวอยู่กับทีวี เกมส์ อินเทอร์เน็ตฯลฯที่มีสารพัดทั้งประโยชน์ โทษภัย สิ่งยั่วยุ-ลามกและมอมเมา ซึ่งเด็กแยกแยะเองไม่ได้ หรือหลงผิดได้โดยไม่รู้ตัว
          ที่สุดก็กลายเป็นโรค “สำลักเสรีภาพ” คิดว่าข้าฯทำอะไรก็ได้ ถ้าใจต้องการ โดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ คุณธรรมและสิทธิของผู้อื่น แม้แต่พ่อแม่ยังเตือนยังสอนไม่ได้ไม่ฟัง
          ผู้อ่านท่านใดที่อยากรู้เรื่องของท่านนักบุญยอห์นบอสโก และ“ระบบป้องกัน”(Preventive System) โดยละเอียดสามารถถามอาจารย์ google หรือเข้าไปดูได้ที่ www.youtobe มีทั้งเป็นคลิปภาพยนตร์ และหนังสือให้อ่านกันหลายเวอร์ชั่นครับ
                                                          Thanya2555@gmail.com
          

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

ตรุษจีน ปีมังกรน้ำอะไรก่อน

กฎ-น้ำ-ยา อะไรก่อนหลัง หรือ “ไม่มีน้ำยา
           
                ตั้งแต่เริ่มปีพุทธศักราชใหม่มาได้เกือบเดือน ต้องถือว่า “ข่าวยาเสพติด”ได้ยึดพื้นที่ข่าวในทุกช่องทางการสื่อสารไว้ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว
          แสดงให้เห็นถึงการเอาจริงเอาจังของรัฐบาลและหน่วยงานที่มีหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดอันเป็นพิษภัยต่อสังคมและการพัฒนาประเทศ
ภาพจาก นสพ.มติชนรายวัน (24 ม.ค.55น.3)

    แม้ว่า “ข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”     กฎหมายสูงสุดของประเทศ จะร้อนแรงเพียงใด(ในทางการเมือง)ก็ยังถูกนำเสนอน้อยกว่า
     เหมือนกับมีกลจงใจให้ข่าวยาเสพติดดังโหมเหนือข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ       (สังเกตจากลากเอาข่าวดารานักแสดงและนักการเมืองพรรคคู่แข่งมาแถลงเพื่อเติมเชื้อประเด็นความสนใจของชาวบ้าน)
      ขนาด “ข่าวน้องน้ำที่ว่ามาแรงมากๆ”  เพราะชาวบ้านยังตื่นตระหนกกับมหาอุทกภัยไม่หาย รวมทั้งมีแรงบวกมาจากภาคเอกชนและนักลงทุนทางธุรกิจ โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ต้องการเห็นความชัดเจนถึงยุทธศาสตร์ แผนและมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันน้ำท่วม

ยังแผ่วลงไปเมื่อเจอกับความร้อนแรงของ “ข่าวยาเสพติด”
            อันที่จริงแล้วก็อาจจะไม่ได้แปลกอะไร เพราะสื่อมวลชนไทย(รวมถึงสื่อท้องถิ่นอย่างผมด้วย)ก็มักชอบเล่นข่าวตามกระแสอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้รู้สึกเหมือนมีกระบวนการปลุกปั้นข่าวให้ดังกลบกระแสการเมือง และเศรษฐกิจที่กำลังตกอยู่ในวังวนของวิกฤติเศรษฐกิจโลก
            ซึ่งอย่างไรเสียอาเซียนและประเทศไทย ก็คงหนีไม่พ้นอิทธิพลของผลกระทบที่เปรียบเสมือนโดมิโน่ที่ล้มไล่กันไปมาเป็นรอบๆไป ประมาณ 10-15 ปีครั้ง ส่วนจะเสียหายมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ ณ ห้วงวิกฤตกาลนั้นปรากฎขึ้น 
             ไม่เช่นนั้น ดร.โก่ง นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.)คงไม่ออกอาการลมออกหู เมื่อถูกขวางแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการหนี้สาธารณะของประเทศ
          ซึ่ง ดร.โก่ง ท่านต้องการใช้เทคนิคการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นในส่วนของกระทรวงการคลังถืออยู่ 51% ให้เหลือเพียง 49% เพื่อให้ตัวเลขหนี้รัฐวิสาหกิจถูกดึงออกจากหนี้สาธารณะ ที่ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 4.30 ล้านบาท (ณ เดือน พ.ย.54) ได้ถึง 9 แสนล้านบาท (เป็นภาระหนี้ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) 7 แสนล้านบาท และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อีก 2 แสนล้านบาท)
            เหตุผลที่อ้างกันก็คือ เพื่อลดความเสี่ยงของประเทศซึ่งหากต้องแบกภาระหนี้สินจำนวนมากไว้เป็นเวลานาน จนอาจไม่สามารถใช้คืนได้ในอนาคต หากจะต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ หรือภัยพิบัติซ้ำซาก (ส่วนหุ้นอีก 2%เปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาช้อนซื้อกันในตลาด ซึ่งสุดท้ายก็ต้องตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในไม่ช้าอย่างแน่นอน)
          และเพื่อจะได้ผันเงินมาฟื้นฟูพัฒนาประเทศได้ถนัดมือมากขึ้น
            กลับมาที่ “ข่าวน้องน้ำ”ซึ่งมีเสียงทั้งเตือนและฟันธงทั้งจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำและโหราจารย์ทั้งสายไทยและจีนว่า ปี 2555นี้ มังกรน้ำแผลงฤทธิ์มีสิทธิ์เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกแน่ๆ
            เป็นต้นผู้ที่สังคมให้ความเชื่อถืออย่างท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และท่าน ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งออกมาพูดในเวลาไร่เรี่ยกันในทำนองเดียวกันว่า
            รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร)และส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันน้ำท่วมจะทำชักช้าอยู่ไม่ได้แล้ว ต้องเร่งขุดลอกคู คลอง หนอง บึงที่ตื้นเขิน ต้องวางแผนหาทางให้น้ำไป ระบายออกสู่ทะเลได้สะดวก หรือให้สามารถเป็นแกมลิงรองรับน้ำเพียงพอไม่ให้ท่วมเรือกสวนไร่นาบ้านเรือนประชาชนเหมือนเมื่อปีที่แล้วอีก
            เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนก็จะเข้าหน้าฝนแล้ว ถ้าขืนยังมัวตกอยู่ในความประมาท ปล่อยให้วันคืนผ่านล่วงเลยไป โดยไม่คิดทำการอันใดให้เป็นชิ้นเป็นอัน
          ไม่มีใครหน่วยงานไหนรับเป็นเจ้าภาพ ไม่มีแผนป้องกันน้ำท่วมที่ชัดเจนออกมาทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศ หรือไปลุกรี้ลุกรนทำกันแบบฉุกละหุกไร้กระบวนท่า เมื่อภัยมาถึงตัว ก็ไม่ทันการณ์แล้ว(แถมการเยียวยาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาก็ล่าช้าอีกด้วย)
            “น้องน้ำ”ที่คาดเดากันว่าจะมาแน่ในปีนี้ ก็คงทำให้ทรัพย์สินชาวบ้านฉิบหายและทำลายเศรษฐกิจของประเทศ(ไปพร้อมกับรัฐบาล/ผู้บริหารท้องถิ่น)ให้ย่อยยับอัปราชัยได้อีกครั้ง
            มาถึงบรรทัดนี้สรุปว่า ไม่ว่าใครจะทำให้ข่าวไหนดังกว่าข่าวไหน เพื่อกลบข่าวไหน คงไม่ใช่ประเด็นใหญ่เสียแล้วครับ
            ประเด็นใหญ่น่าจะอยู่ที่ “กึ๋น”ของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศและประชาชนผ่านพ้นวิกฤตการเมือง-ยาเสพติด-น้ำท่วมและวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะคืบคลานเข้ามาได้อย่างไร
          รวมทั้งจะต่อยอดพัฒนาศักยภาพและยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทสและประชาชนในเวทีระดับชาติ-อาเซียนและระดับโลกได้อย่างเข้มแข็งหรือไม่ มากกว่าใช่ไหมครับ?
                                                            Thanya2555@gmail.com

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ครูพันธุ์ใหม่-วันครู

                                                                     ใครเห็นด้วยยกมือขึ้น
    ดูเหมือนสังคมไทยและการศึกษาไทยในยุคนี้ กำลังโหยหา “ครูพันธุ์ใหม่ที่ดีและเก่ง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมการศึกษา และเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
        โดยเฉพาะกระบวนการเรียนรู้ พฤติกรรมและลักษณะนิสัยของเด็ก หรือผู้เรียนนั้นมีความสำคัญและสัมพันธ์อย่างมากกับกระบวนการเรียนการสอน การอบรมของครู และการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
       เหมือนดังนิทาน เรื่องลูกนกแขกเต้าสองตัวใน มงคลสูตร ของพระพุทธเจ้า ที่ถูกลมพัดไปตกยังที่ต่างกัน ตัวหนึ่งตกในชุมโจร มันจึงพูดจาหยาบคาย เลียนเสียงขุนโจรที่เจรจาโต้ตอบกัน ส่วนอีกตัวหนึ่งไปตกอยู่ที่กอดอกไม้ริมอาศรมของพวกฤษี มันพูดจาไพเราะ เป็นนกที่ดูดีมีสกุล เพราะพวกฤษี ทั้งสอนและถือศีลปฏิบัติธรรมให้เห็นอยู่เป็นนิจ
ดอนบอสโก บิดาและอาจารย์เยาวชน
     
    ดังนั้นครู คือ “ผู้สอน” หรือ “ผู้อบรมรมสั่งสอน” หรือ “ผู้จัดประสบการณ์การเรียนรู้”ให้เด็กหรือผู้เรียน จึงต้องเป็นครูที่ดี และเก่ง และจำต้องเป็นได้ทั้งครู-พ่อแม่และสภาพแวดล้อมที่ดีของผู้เรียน 
          คำถามก็คือ ครูที่ดีและเก่งนั้น ควรมีคุณลักษณะอย่างไร?
          “ครูที่ดีและเก่ง” ในมุมมองของผม ต้องเป็น ครูที่สอนดี มีทั้งภูมิรู้และภูมิธรรม มีศิลปะในการสอนและการอบรมผู้เรียน สามารถนำหลักสูตรไปสู่การเรียนการสอนในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
         คือต้อง  “ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย”ได้  ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้เร็วและสนุกสนาน ประทับใจ จดจำได้นาน มีทักษะชีวิต และนำความรู้ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
          ไม่ใช่สอนไปวันๆ หรือสอนเพื่อสอบแล้วทิ้ง
          ครูที่ดีต้องเก่งสอบเก่งสอน“มีการสอบเพื่อสอนและพัฒนา” ไม่ใช่ “สอนเพื่อทำข้อสอบ เสร็จแล้วเด็กก็ลืม” ครูที่ดีและเก่งต้องนำผลหรือสารสนเทศจากการประเมินผลทั้งก่อน-ระหว่างและหลังการสอน มาใช้พัฒนาการเรียนการสอน และคุณภาพผู้เรียนให้ดีมีคุณภาพยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบ
           ครูที่ดีและเก่ง ต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีชีวิตชีวา โดยใช้ “สื่อ-แหล่งเรียนรู้-เทคนิคและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการนำเสนอและเน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมลงมือปฏิบัติ ฝึกหัดทำจริง           “ชวนให้คิดสะกิดให้ถาม” โดยใช้ “ข้อมูล-ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม-สถานการณ์จริง” ท้าทายให้นักเรียน “คิดต่างแต่(คิด)ดี”   
            ครูที่ดีและเก่ง ต้องส่งเสริมกระบวนการร่วมคิดแบบ “แบ-กบาล” บูรณาการ ความรู้   ทักษะกระบวนการและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ รอบด้านและเรียบง่าย 
            ทั้งสอนและอบรมให้ผู้เรียนเป็นคนดีและคนเก่ง เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ครบครันทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต มีสุนทรียในชีวิต มีความฉลาดทางอารมณ์ และมีทักษะทางสังคม ไม่เป็นคนแล้งน้ำใจ ไร้ระเบียบวินัยและความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของเด็กไทยในปัจจุบัน
          ครูที่ดีและเก่ง ต้องเป็นทั้ง“ครูผู้สอนและนักอบรมบ่มนิสัย” ที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีแนวคิดและทักษะเชิงบวก  คิดเชิงบวก สอนเชิงบวก อบรมเชิงบวกและลงโทษเชิงบวก  ไม่ชอบพูดมาก แต่ชอบทำ-ปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้ดู รวมทั้งด้าน “รักการอ่าน รักการเรียนรู้ การอยู่อย่างพอเพียง และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ระดับคุณภาพที่ดีกว่า” มีคุณธรรมจริยธรรมเหมาะสม ตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ
            อบรมสั่งสอนเด็กด้วยความรัก ความเมตตา ด้วยหลักคุณธรรมและหลักเหตุผล แม้ว่าเด็กจะหยาบคาย ร้ายกาจ ไร้วุฒิภาวะและทักษะการเรียนรู้ เหมือนเรื่องจริงในศตวรรษที่ 18  ของ นักบุญยอห์น บอสโก “บิดา อาจารย์และเพื่อนของเยาวชน” ผู้ปฏิบัติระบบป้องกัน(PREVENTIVE SYSTEM) ในการอบรมเลี้ยงดูเด็กกำพร้า เร่ร่อน ยากจน เกเรสารพัดรูปแบบ ให้กลับกลายเป็นคนดี เป็นพลเมืองดี เป็นนักบวชที่ดี ได้อย่างน่าทึ่ง
ที่มา : นิตยสารดอนบอสโก
                                                                                                                                       
            วิธีการอบรมแบบป้องกัน การสร้างเครือข่ายองค์กรและวัฒนธรรมความเป็นครูที่อาจเรียกว่า “เป็นเทวดารักษาตัว”ของท่าน ยังคงทรงอิทธิพลอยู่ในรูปแบบของการสอนการอบรมในโรงเรียนคาทอลิกของคณะซาเลเซียน และคณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์มาจวบจนปัจจุบัน อาทิเช่น โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย และโรงเรียนนารีวุฒิ ราชบุรี โรงเรียนเซนต์ดอมินิก กรุงเทพฯ โรงเรียนแสงทอง หาดใหญ่ สงขลา ฯลฯเป็นต้น
            และคาดว่าจะยังคงเป็นจิตตารมณ์ หรืออุดมการณ์ หรือปณิธาน ในการอบรมเด็ก เยาวชนทั้งหลายต่อไปอีก
            ดังเช่นการปฏิบัติหน้าที่และวิชาชีพครูด้วยความรัก ความอดทน ความขยันหมั่นเพียร  ความเสียสละ      และความมุ่งมั่น ที่จะทำทุกอย่างด้วยความรักความจริงใจ  พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นกัลยาณมิตร ที่หมั่นถักทอ “เครือข่ายความคิดพันธมิตรความรู้” เพื่อประโยชน์ของลูกศิษย์-การศึกษาและสังคมไทยให้ก้าวไปได้อย่างมั่นคงและมั่นใจ ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
            ในมุมมองของผม ไม่ว่าครูท่านนั้นจะยึดแนวทางใด “พุทธ หรือคริสต์ หรือศาสนาอื่นใด” ผมคิดว่าทุกท่านสามารถพัฒนาตนเองให้เป็น“ครูพันธุ์ใหม่”เป็นครูที่ยึดหลักคุณธรรม และความรักเมตตาอันเป็นแก่นแกนของ “จิตวิญญาณความเป็นครู” ได้
             ใครเห็นด้วย ช่วยยกมือขึ้นด้วยครับ
                                      ธัญญา ศิโรรัตน์ธัญโชค ASC.
                                       THANYA2555@GMAIL.COM