จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สวนผึ้ง-ราชบุรี โอกาสและสีสันอาเซียน?

ระยะเวลา 3-5 ปีมานี้ อ.สวนผึ้ง และ จ.ราชบุรีกลายเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวไปแล้ว 
ที่มา : บ้านสวนยอห์น ม.8 ตะโกล่าง สวนผึ้ง


  
 โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลคริสตมาสและปีใหม่นั้นผู้คนหลั่งไหลกันมาสัมผัสลมหนาว ไอหมอก ในอ้อมกอดของขุนเขาพนาไพร กันแน่นขนัด ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจและการบริการต่อเนื่องอื่นๆด้วย

        ประมาณกันว่า มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่จังหวัดราชบุรีมากขึ้นทุกๆปี  เพราะเป็นจังหวัดที่มีสถานที่และกิจกรรมท่องเที่ยวที่หลากหลายน่าสนใจมากมาย ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่งดงาม 


     มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ วิถีชุมชน ตลาดน้ำ เกษตรธรรมชาติ งานหัตถกรรมต่างๆ เช่น เครื่องปั้น เครื่องหล่อ เครื่องทอถัก เครื่องจักสานศิลปะการร้องรำ พิธีกรรมฯลฯ ที่เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในอาเซียน และเป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาคนี้นับมาแต่โบราณกาล

     โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ ก็มีความพร้อม สะดวก ปลอดภัยมีโรงไฟฟ้ามากถึง 6 แห่ง รวมถึงเป็นเมืองชายแดนติดกับประเทศพม่าและจังหวัดกาญจนบุรี ประตูสู่ทวายอภิมหาโปรเจ็กต์โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของโลก 


ที่มา www.oknation.net/blog/home/blog_data/326/2326/images/Ecomath/mathematic.jpg
    จังหวัดราชบุรี จึงมีปัจจัยสนับสนุนเพียงพอที่จะปลุกปั้นให้เป็นเมืองทองทางเศรษฐกิจ    เกษตรอุตสาหกรรมและเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญเมืองหนึ่งของภูมิภาค ของประชาคมอาเซียน และประเทศห้าเหลี่ยมเศรษฐกิจ (BIMSTEC-ไทย พม่า บังคลาเทศ    ศรีลังกา และอินเดีย)ได้ไม่ยาก

      จึงมีเสียงเรียกร้อง และการดำเนินการของภาครัฐ เอกชนและหอการค้า ร่วมกันผลักดันให้มีการเปิดด่านและการค้าชายแดนที่อำเภอสวนผึ้งมาโดยตลอด บางยุคบางสมัยก็ดูเอาจริงเอาจัง 


       เป็นต้นยุคที่นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิพาณิชย์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ถึงขนาดปิดโรงแรมโกลเด้นซิตี้ เชิญตัวแทนของนายทุน สื่อมวลชน ภาครัฐ-เอกชนและผู้เกี่ยวข้อง     แถลงข่าวเปิดตัว
โปรเจ็กต์ 28,000 ล้านกันเลยทีเดียว


      แต่ในที่สุดก็เงียบหายกลายเป็นเรื่องโจ๊กในวงเหล้าไปเฉยๆ  ในขณะที่นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ขยับขึ้นไปเป็นอธิบดีกรมการปกครอง

        ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวขององค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรีที่พยายามจะขอใช้พื้นที่บริเวณเหมืองตะโกปิดทอง ซึ่งอยู่บนเขาติดชายแดน เปิดเป็นตลาดการค้าชายแดน ซึ่งข้ามฝากไปก็เป็นฐานทหารของพม่า ตลอดระยะทาง 5-7 กิโลเมตร จะมีฐานทหารพม่าและหมู่บ้านเล็กๆตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำที่ยังอุดมสมบูรณ์มาก แต่ก็ยังไม่บรรลุผลสำเร็จ

        ในขณะที่นายโกมล ตันติวรนุกูล ประธานหอการค้าจังหวัดราชบุรีออกมาส่งสัญญาณว่า ทั้งพม่าและภาคเอกชน พร้อมที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนการเปิดด่านชายแดนที่อำเภอสวนผึ้ง แต่ติดขัดอยู่ที่ระบบและกลไกของภาครัฐที่ทำให้ทุกอย่างล่าช้า ซึ่งอาจทำให้จังหวัดราชบุรีและประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ(สู่ชนบท พ.ย.2554 น.14)

        ก่อนสิ้นปี 2554 นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ให้ความหวังว่า การเปิดด่านชายแดน ด้านอำเภอสวนผึ้งมีความสำคัญ และจะสานต่องานนี้ รวมทั้งสนับสนุนโครงการที่ทุกภาคส่วนดำเนินการอยู่ และข้อมูลต่างๆให้ทางกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานด้านความมั่นคงพิจารณา(มติชนรายวัน,26 ธ.ค.54,น.8)

        ปีใหม่ 2555 นี้อาจจะเป็นปีแห่งความหวังของคนราชบุรี และประเทศไทยอีกครั้ง ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และประธานหอการค้าจังหวัดราชบุรี จะเอาจริงเอาจังกับการผลักดันเรื่องนี้อย่างมียุทธศาสตร์และเป้าหมายที่ชัดเจน

        รวมทั้งต้องสามารถระดมสรรพกำลังทั้งภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน ประชาชนและเอ็นจีโอทั้งหลาย ให้ยังประโยชน์ตนเพื่อส่วนรวมได้อย่าง “เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา”ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน  

        ทั้งด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจการค้าการบริการ การรักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ โดยเฉพาะผืนป่า และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ อันเป็นทั้งอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ที่ทรงคุณค่าของมนุษยชาติในอนาคตครับ

        ได้เวลาคิดจริง ทำจริง เพื่อชาติและประชาชนแล้วครับท่านทั้งหลาย 
                                                                     
                                                                        ธัญญา ศิโรรัตน์ธัญโชค
                                                                      thanya2555@gmail.com