จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ความเชื่อที่ไม่ได้ปฏิบัติ ก็เป็นความเชื่อที่ตายแล้ว


                                 ละคอนสะท้อนการเมือง

        พูดถึงละครทีวี คนไทยส่วนใหญ่ชอบดู

          พูดถึงละครเวที หลายท่านคงพอมีประสบการณ์ได้ดูชมมาบ้าง และถ้าพูดถึง “ละคอนวารสารฯ” ที่สรรสร้างและทำการแสดงโดยนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว

          ย่อมไม่ธรรมดาทั้งเนื้อหาสาระ อรรถรสบทบาทและข้อคิดมุมมองสะท้อนการเมือง ที่ชวนชม ชวนคิดชวนให้ติดตามทั้งก่อน-ระหว่างและหลังการแสดง อย่างสำนวนว่า “ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว”

          “ละคอนวารสารฯ”เป็นละครเวทีที่มีมานานมาก จัดให้ดูกันเป็นประจำทุกปี ปีละครั้ง ราวๆเดือนกันยายนของทุกปี จนกลายเป็นประเพณี หรือวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาววารสารฯไปแล้ว (อาจารย์เขายืนยันว่านานมากๆ...นานตั้งแต่ราชบัณฑิตยสถานยังไม่ออกมาฟันธงคำศัพท์ “ละคอน”ว่าให้สะกดว่า“ละคอน”หรือ “ละคร”นั่นแล)

          ส่วนใหญ่จะจัดในวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ รอบหนึ่งทุ่ม และเพิ่มรอบบ่ายสองโมงในวันเสาร์และวันอาทิตย์ รวมแล้วก็ตกประมาณ 10รอบ ที่หอประชุมศรีบูรพา(หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

          ผมเองก็ไปดู “ละคอนวารสารฯ” ทุกปี ดูแล้วก็ชื่นชมในวิธีคิดวิธีการทำงานของน้องๆนักศึกษา ทำได้ดีทุกปี ปีนี้จัดเป็นแนวพีเรียด ดราม่า เรื่อง “สุขศาลา” ทำการแสดงไปเมื่อ 14-16 ก.ย.และ 21-23 ก.ย.2555

        แต่ปีนี้ดูเหมือน “ละคอนวารสารฯ” จะลืมบทสะท้อนการเมือง แบบแสบๆคันๆพอให้ได้เก็บมาคิดต่อหรือไม่ก็พอจะเดาออกว่า เด็กวารสารฯคนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย มีมุมมองต่อการเมืองและสังคมไทยปัจจุบันอย่างไร

          ที่ผมต้องทักท้วงในประเด็นนี้ หากมองเพียงผิวเผินก็ไม่น่าจะใช่สาระสำคัญอะไรของละคร แต่สำหรับ“ละคอนวารสารฯ” ผมคิดว่าบทมุมมองสะท้อนการเมืองนั้น เป็นทั้งอัตลักษณ์และสัญลักษณ์ที่ชาววารสารศาสตร์และสื่อมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องสื่อสารกับสังคมผ่านทางการแสดง ผู้ชมผู้ดู

          ซึ่งรุ่นพี่ๆในอดีตได้สื่อสารสิ่งนี้มาโดยตลอด และอาจเป็นคำตอบที่หลายคนพยายามจะค้นหาว่า เพราะเหตุใดนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงต้องลุกขึ้นมาทำละครเวที จนกลายเป็นประเพณี ทั้งที่คณะนี้ไม่ได้เรียนวิชา “ละคอนเวที”เลย

          คำตอบที่น่าจะเป็นก็คือ  “การเมืองในละคร ละครเพื่อการเมือง”
          เพราะหากพินิจพิเคราะห์กันแล้ว ในอดีตเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองการปกครอง แต่ละย่างก้าวประชาธิปไตยของไทยล้วนแล้วแต่มีต้นกำเนิดมาจาก “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง”แห่งนี้

          ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา16 หรือ 6ตุลา 19 จนกระทั่jง “ปรากฎการณ์สนธิ”ที่เริ่มก่อรูปจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ นัดพิเศษที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จนกลายเป็น “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”และส่งผลสั่นสะเทือนอย่างยิ่งต่อการเมืองไทยในปัจจุบัน

        เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ผมเห็นก็คือ ความชาญฉลาดของคณาจารย์ และนักศึกษาวารสารฯในอดีตที่เลือกใช้ละคอนเวทีเป็นสื่อเจาะเกราะและทิ่มแทงเผด็จการทางการเมือง ผ่านบทบาทการแสดง บทพูดและเสียงเพลงของตัวละครที่สร้างอารมณ์ร่วมได้อย่างมีมนต์ขลัง และไม่สามารถจะเอาผิดทางกฎหมายได้อย่างง่ายดายเสียด้วย

          ส่วนมุมมองทางสังคมจากละคอนเวทีเรื่อง “สุขศาลา”ที่จัดขึ้นในปีนี้ ผมเห็นว่าทำได้ดีทีเดียว

          สิ่งที่ผมเห็นและคิดก็คือ สังคมไทยปัจจุบันเต็มไปด้วยเงื่อนปมของปัญหาที่ซับซ้อน แฝงไว้ด้วยลับลมคมใน ยากที่จะไว้ใจทางและวางใจคน

          ในระดับการเมืองมีทั้งข่าวลวง ข่าวปล่อย ความจริงครึ่งเดียว โกหกสีขาว บงการหลังม่าน ทำดีเอาหน้า ฯลฯสารพัดรูปแบบ

          ในระดับชาวบ้านร้านถิ่นก็โกหกตอแหล หลอกลวง ช่วงชิงแข่งขันกันเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวกันแบบหน้าซื่อตาใส หรือ หน้าด้าน นั่นแหละครับ

          ต่างคนต่างพยายามเอ่ยอ้างเหตุและผลที่สร้างคุณค่าและผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง มากกว่าจะคำนึงถึงคุณค่าและคุณประโยชน์ ที่เป็นผลประโยชน์และความดีของส่วนรวมอย่างแท้จริง

        ใช้หลักเหตุผล(เข้าข้างตนเอง)มากกว่าหลักคุณธรรม จริยธรรม จนสังคมและจิตใจขาดสมดุล

          เหมือนกับเรื่อง “สุขศาลา”ที่หมอใช้คนไข้ที่ตนเองมองว่าเป็นคนไร้ค่า แก่ชรา อ่อนแอ เป็นอันธพาล เป็นคนที่สมควรตายและเพื่อให้ตายอย่างมีคุณค่า(ตามความคิดของตนเอง) จึงใช้คนไข้เหล่านี้เป็น หนูทดลองวัคซีนโรคไข้ป่า(มาลาเรีย) โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและจรรยาบรรณของแพทย์ โดยที่คนไข้ไม่ได้สมัครใจและไม่เคยได้รับรู้อะไรเลย

          ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น ก็คือการที่หัวหน้าพยาบาลคนหนึ่งที่เป็นผู้เลือกตัวทดลองวัคซีน เอาเรื่องชิงรักหักสวาทส่วนตัว  มาใช้เป็นเครื่องมือประหัตถ์ประหารคนไข้ที่เป็นภรรยาของผู้อำนวยการสุขศาลา นายแพทย์ผู้เป็นชู้รัก

          ผลสุดท้ายเมื่อการทดลองล้มเหลว คนก็ต้องล้มตาย ความเสียหายก็เกิดขึ้นกับชีวิตกับส่วนรวมกับสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกอย่างจบลงด้วยความโศกเศร้า รันทดใจ       มีแต่เสียกับเสีย

          มาถึงตรงนี้แล้ว หากมองความเป็นไปในสังคมและการเมืองไทยปัจจุบัน ผมอยากเห็นรัฐบาลและนักการเมืองคิดใหม่ทำใหม่ในอีกมุมหนึ่งจริงๆ จังๆ

          ทำเพื่อประโยชน์โดยรวมของชาติและประชาชนจริงๆ ไม่โกง ไม่โกหกหลอกลวง เลิกเล่นชักเย่อทำร้ายทำลายชาติบ้านเมืองกันเสียที ได้ไหม?