จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

หมอประเวศชี้นวัตกรรมพัฒนาสังคมเข้มแข็ง

ตาเฮรอซะ=ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เพื่อสังคมดี

            
  ผมอ่านทรรศนะของ ท่านศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี ราษฏรอาวุโสและนักวิชาการด้านสาธารณสุขและการศึกษา เรื่อง”นวัตกรรมทางสังคมกับการพัฒนาประเทศ” ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จัดขึ้น แล้ว
 
              
             ทำให้คิดถึงกิจกรรมการลงพื้นที่หมู่บ้าน ห้วยคลุม อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ของคณะฆราวาสแพร่ธรรมรุ่น 7 หรือที่บาทหลวงสมบูรณ์ แสงประสิทธิ์ ประธานดำเนินการของหน่วยประกาศพระวรสารฯแห่งมิสซังคาทอลิกราชบุรี มักเรียกว่า “ฆราวาสผู้บำเพ็ญประโยชน์” เพราะมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่จะฝึกฝนตนเองให้สามารถทำประโยชน์เพื่อความสุขของผู้อื่นและความดีของสังคมโดยรวม ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ค.2556 ที่ หนังสือพิมพ์สู่ชนบท โดยคุณนาวี กมลพันธ์ทิพย์ เจ้าของและบรรณาธิการ ได้มีส่วนร่วมหนุนเสริมในกิจการดีครั้งนี้ด้วย
                ท่าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี ตั้งคำถามที่ชวนให้น่าขบคิดว่า “ทำไมเราพัฒนาเศรษฐกิจกันมา 50ปี ผู้ใช้แรงงาน 38ล้านคนยังมีชีวิตที่ย่ำแย่ และ “ไทย”ยังคงเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในเอเชีย?”
                ในมุมมองของผมประเด็นเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำในสังคม”และ “คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่”ของแรงงาน และผู้คนในชนบท โดยเฉพาะของคนชายขอบของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น เปรียบเหมือนหนามแหลมที่ทิ่มแทงใจผมตลอดมานับตั้งแต่เริ่มสนใจในความเป็นไปของเศรษฐกิจและสังคมไทย
                ประเทศของเรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี2501 ถึงปัจจุบันเป็นฉบับที่ 11แล้ว เราใช้เวลามากว่า 55ปีในการพัฒนา แต่การลดช่องว่างระหว่างชุมชนเมืองและชนบท ก็ยังห่างกันอยู่ ไม่สามารถจะขจัดความเหลื่อมล้ำ และผดุงความเป็นธรรม ความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นได้อย่างที่ควรจะเป็น
                                                                      
               เพราะอะไรนั้นหรือ?
               ท่านศ.นพ.ประเวศ วะสี มองว่าเป็นเพราะโครงสร้าง
ในสังคมไทย ที่เป็น “แท่งอำนาจในแนวดิ่ง” และ สภาพ“สังคมเดี่ยว”แบบตัวใครตัวมัน มีความเป็นปัจเจกชนนิยมมากเกินไป การใช้อำนาจและสร้างกฎเกณฑ์ เงื่อนไขที่ประชาชนเข้าร่วมได้ยาก มีการส่งเสริมการเรียนรู้น้อย ผู้มีอำนาจไม่ยอมเรียนรู้ ไม่ยอมรับความคิดเห็นต่างๆของประชาชน

                สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุปัจจัยให้สังคมอ่อนแอ ขาดการมีส่วนร่วม 

ร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ปัญหา เป็นเหตุให้เกิดความสำเร็จน้อย ความ

รวยกระจุก ความจนกระจาย คุณธรรมด้อยคุณค่า ชีวิตขาดความสุข 

จิตใจไม่พัฒนา และทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย

             
   แม้ว่าปัจจุบันจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น น้ำไหล ไฟสว่าง หนทางดี การคมนาคมขนส่งสะดวกสบาย รายได้เพิ่มขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำและความย่ำแย่ของชีวิตของคนอีกส่วนหนึ่ง ก็ยังดำรงอยู่เป็นเงาตามตัว ไม่ห่างหายไปไหน
                
                    การลงพื้นที่ออกปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อฝึกหัดคุณธรรมความดีของคณะฆราวาสผู้บำเพ็ญประโยชน์ รุ่น 7 โดยการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมร่วมกันกับชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่บ้านห้วยคลุม วัดแม่พระฟาติมา อ.สวนผึ้ง แบบคนในครอบครัวเดียวกัน จึงออกรสชาติมากกว่าครั้งที่ผ่านๆมามาก
                เป็นการลิ้มชิมรสชาติของความยากลำบาก และความเสียสละตนของคณะฆราวาสฯผู้ไปเยือน
                เป็นการสัมผัสกับวิถีชีวิตที่เป็นจริงตามธรรมชาติ เก็บกินผักสวน

ครัวรั้วกินได้ อาบน้ำฝนน้ำบ่อบาดาล

               ซึ่งไม่สะดวกสบายเหมือนอยู่ในเมือง อยู่ในห้องแอร์ ห้องมุ้งลวด 

หรือนอนที่นุ่มๆ
            นับเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองในการเจริญชีวิต วิธีคิด เศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนาความเชื่อและประเพณี ของทั้งผู้เป็นเจ้าบ้านและผู้ไปเยือน  
                คนเมืองก็ได้เรียนรู้ถึงข้อจำกัด ความด้อยโอกาส ความอัตคัด

ขัดเคืองของชาวบ้าน
             ชาวบ้านชนบทกลุ่มชาติพันธ์ก็ได้เรียนรู้วิธีคิด ข้อมูลข่าวสาร และกระบวนการเรียนรู้จากคนเมือง  
                ก่อให้เกิดความเข้าใจและความประทับใจในอัธยาศัยไมตรีของกันและกัน
            ก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันทำกิจกรรมที่ดีที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ตนเองและครอบครัว ส่วนรวม
            เกิดความตระหนักรู้ ถึงคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คุณธรรมความดีงามต่างๆที่ทำร่วมกันได้ โดยมีความเชื่อ และหลักธรรมคำสอนเป็นแกนหลัก




เป็นแบบจำลองของ “สังคมดี”หรือสังคมเข้มแข็ง ในทรรศนะและมุมมองของท่าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี ที่เริ่มต้นจากการรวมตัวกัน ร่วมคิดร่วมทำในเรื่องต่างๆ เพื่อส่วนรวม และนำไปสู่ความอบอุ่น ความสุข คือคิดถึงและรับผิดชอบต่อส่วนรวม
                เป็นการรวมทุนหรือทรัพยากรเพื่อการพัฒนาเข้าด้วยกัน ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางปัญญา ทุนภาครัฐ-ภาคธุรกิจ และทุนทางศาสนธรรมไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม หรืออื่นๆ

                เป็นการรวมพลังทางสังคมเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ขจัดความอยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำให้หมดไปอย่างได้ผลยั่งยืน มีประสิทธิภาพ
               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น