จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ความเชื่อที่ไม่ได้ปฏิบัติ ก็เป็นความเชื่อที่ตายแล้ว


                                 ละคอนสะท้อนการเมือง

        พูดถึงละครทีวี คนไทยส่วนใหญ่ชอบดู

          พูดถึงละครเวที หลายท่านคงพอมีประสบการณ์ได้ดูชมมาบ้าง และถ้าพูดถึง “ละคอนวารสารฯ” ที่สรรสร้างและทำการแสดงโดยนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว

          ย่อมไม่ธรรมดาทั้งเนื้อหาสาระ อรรถรสบทบาทและข้อคิดมุมมองสะท้อนการเมือง ที่ชวนชม ชวนคิดชวนให้ติดตามทั้งก่อน-ระหว่างและหลังการแสดง อย่างสำนวนว่า “ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว”

          “ละคอนวารสารฯ”เป็นละครเวทีที่มีมานานมาก จัดให้ดูกันเป็นประจำทุกปี ปีละครั้ง ราวๆเดือนกันยายนของทุกปี จนกลายเป็นประเพณี หรือวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาววารสารฯไปแล้ว (อาจารย์เขายืนยันว่านานมากๆ...นานตั้งแต่ราชบัณฑิตยสถานยังไม่ออกมาฟันธงคำศัพท์ “ละคอน”ว่าให้สะกดว่า“ละคอน”หรือ “ละคร”นั่นแล)

          ส่วนใหญ่จะจัดในวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ รอบหนึ่งทุ่ม และเพิ่มรอบบ่ายสองโมงในวันเสาร์และวันอาทิตย์ รวมแล้วก็ตกประมาณ 10รอบ ที่หอประชุมศรีบูรพา(หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

          ผมเองก็ไปดู “ละคอนวารสารฯ” ทุกปี ดูแล้วก็ชื่นชมในวิธีคิดวิธีการทำงานของน้องๆนักศึกษา ทำได้ดีทุกปี ปีนี้จัดเป็นแนวพีเรียด ดราม่า เรื่อง “สุขศาลา” ทำการแสดงไปเมื่อ 14-16 ก.ย.และ 21-23 ก.ย.2555

        แต่ปีนี้ดูเหมือน “ละคอนวารสารฯ” จะลืมบทสะท้อนการเมือง แบบแสบๆคันๆพอให้ได้เก็บมาคิดต่อหรือไม่ก็พอจะเดาออกว่า เด็กวารสารฯคนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย มีมุมมองต่อการเมืองและสังคมไทยปัจจุบันอย่างไร

          ที่ผมต้องทักท้วงในประเด็นนี้ หากมองเพียงผิวเผินก็ไม่น่าจะใช่สาระสำคัญอะไรของละคร แต่สำหรับ“ละคอนวารสารฯ” ผมคิดว่าบทมุมมองสะท้อนการเมืองนั้น เป็นทั้งอัตลักษณ์และสัญลักษณ์ที่ชาววารสารศาสตร์และสื่อมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องสื่อสารกับสังคมผ่านทางการแสดง ผู้ชมผู้ดู

          ซึ่งรุ่นพี่ๆในอดีตได้สื่อสารสิ่งนี้มาโดยตลอด และอาจเป็นคำตอบที่หลายคนพยายามจะค้นหาว่า เพราะเหตุใดนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงต้องลุกขึ้นมาทำละครเวที จนกลายเป็นประเพณี ทั้งที่คณะนี้ไม่ได้เรียนวิชา “ละคอนเวที”เลย

          คำตอบที่น่าจะเป็นก็คือ  “การเมืองในละคร ละครเพื่อการเมือง”
          เพราะหากพินิจพิเคราะห์กันแล้ว ในอดีตเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองการปกครอง แต่ละย่างก้าวประชาธิปไตยของไทยล้วนแล้วแต่มีต้นกำเนิดมาจาก “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง”แห่งนี้

          ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา16 หรือ 6ตุลา 19 จนกระทั่jง “ปรากฎการณ์สนธิ”ที่เริ่มก่อรูปจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ นัดพิเศษที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จนกลายเป็น “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”และส่งผลสั่นสะเทือนอย่างยิ่งต่อการเมืองไทยในปัจจุบัน

        เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ผมเห็นก็คือ ความชาญฉลาดของคณาจารย์ และนักศึกษาวารสารฯในอดีตที่เลือกใช้ละคอนเวทีเป็นสื่อเจาะเกราะและทิ่มแทงเผด็จการทางการเมือง ผ่านบทบาทการแสดง บทพูดและเสียงเพลงของตัวละครที่สร้างอารมณ์ร่วมได้อย่างมีมนต์ขลัง และไม่สามารถจะเอาผิดทางกฎหมายได้อย่างง่ายดายเสียด้วย

          ส่วนมุมมองทางสังคมจากละคอนเวทีเรื่อง “สุขศาลา”ที่จัดขึ้นในปีนี้ ผมเห็นว่าทำได้ดีทีเดียว

          สิ่งที่ผมเห็นและคิดก็คือ สังคมไทยปัจจุบันเต็มไปด้วยเงื่อนปมของปัญหาที่ซับซ้อน แฝงไว้ด้วยลับลมคมใน ยากที่จะไว้ใจทางและวางใจคน

          ในระดับการเมืองมีทั้งข่าวลวง ข่าวปล่อย ความจริงครึ่งเดียว โกหกสีขาว บงการหลังม่าน ทำดีเอาหน้า ฯลฯสารพัดรูปแบบ

          ในระดับชาวบ้านร้านถิ่นก็โกหกตอแหล หลอกลวง ช่วงชิงแข่งขันกันเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวกันแบบหน้าซื่อตาใส หรือ หน้าด้าน นั่นแหละครับ

          ต่างคนต่างพยายามเอ่ยอ้างเหตุและผลที่สร้างคุณค่าและผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง มากกว่าจะคำนึงถึงคุณค่าและคุณประโยชน์ ที่เป็นผลประโยชน์และความดีของส่วนรวมอย่างแท้จริง

        ใช้หลักเหตุผล(เข้าข้างตนเอง)มากกว่าหลักคุณธรรม จริยธรรม จนสังคมและจิตใจขาดสมดุล

          เหมือนกับเรื่อง “สุขศาลา”ที่หมอใช้คนไข้ที่ตนเองมองว่าเป็นคนไร้ค่า แก่ชรา อ่อนแอ เป็นอันธพาล เป็นคนที่สมควรตายและเพื่อให้ตายอย่างมีคุณค่า(ตามความคิดของตนเอง) จึงใช้คนไข้เหล่านี้เป็น หนูทดลองวัคซีนโรคไข้ป่า(มาลาเรีย) โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและจรรยาบรรณของแพทย์ โดยที่คนไข้ไม่ได้สมัครใจและไม่เคยได้รับรู้อะไรเลย

          ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น ก็คือการที่หัวหน้าพยาบาลคนหนึ่งที่เป็นผู้เลือกตัวทดลองวัคซีน เอาเรื่องชิงรักหักสวาทส่วนตัว  มาใช้เป็นเครื่องมือประหัตถ์ประหารคนไข้ที่เป็นภรรยาของผู้อำนวยการสุขศาลา นายแพทย์ผู้เป็นชู้รัก

          ผลสุดท้ายเมื่อการทดลองล้มเหลว คนก็ต้องล้มตาย ความเสียหายก็เกิดขึ้นกับชีวิตกับส่วนรวมกับสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกอย่างจบลงด้วยความโศกเศร้า รันทดใจ       มีแต่เสียกับเสีย

          มาถึงตรงนี้แล้ว หากมองความเป็นไปในสังคมและการเมืองไทยปัจจุบัน ผมอยากเห็นรัฐบาลและนักการเมืองคิดใหม่ทำใหม่ในอีกมุมหนึ่งจริงๆ จังๆ

          ทำเพื่อประโยชน์โดยรวมของชาติและประชาชนจริงๆ ไม่โกง ไม่โกหกหลอกลวง เลิกเล่นชักเย่อทำร้ายทำลายชาติบ้านเมืองกันเสียที ได้ไหม?

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ไม่มีความรักใดยิ่งใหญ่ เท่ากับการเสียสละเพื่อมิตรสหาย


สิทธิผู้เสียหาย กรณีศึกษานางดวงจิตต์ “ครูผู้ถูกเผาทั้งเป็น”

                ผมและคณะได้มีโอกาสไปเยือนสำนักงานอัยการสูงสุดและแลกเปลี่ยนทัศนะกับ
คุณอัจฉราวรรณ  บุนนาค ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริ
พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภาแล้วรู้สึก ประทับใจ

             และเข้าใจว่ายังมีเรื่องที่ประชาชนอย่างเราๆควรจะได้รับรู้เรื่องกฎหมายและสิทธิ
ประโยชน์ของตนเองอีกมาก

            โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง เด็กและผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดทางอาญาของผู้อื่น ดูเป็นประเด็นที่ท่านผู้อำนวยการ อัจฉราวรรณ เน้นให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

            ประการแรกคือ พระเมตตาและความห่วงใยที่พระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา ทรงมีต่อผู้ด้อยโอกาส ผู้ตกทุกข์ได้ยากในสังคม ทั้งห่วงใยปัญหาผู้หญิงถูกรังแก ถูกใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะทางกาย วาจา ใจ 

            อย่างกรณีของนางดวงจิตต์ บุญพระ ครูโรงเรียนบอสโกพิทักษ์ อ.เมือง จ.นครปฐม ที่ถูกสามีทำร้าย  โดยใช้น้ำมันราดแล้วจุดไฟเผาต้องทนทุกข์แสนสาหัสอยู่ทุกวันนี้

            ก็ทรงมีพระเมตตาให้ผู้แทนพระองค์อัญเชิญแจกันดอกไม้ ประทานให้เป็นขวัญกำลังใจ
ยังความปลาบปลื้มเป็นล้นพ้นแก่ครูดวงจิตต์ ผู้ป่วย ลูกๆของเธอและญาติพี่น้องทุกคน

            ประการต่อมา คือ เรื่องสิทฺธิประโยชน์และสวัสดิการที่ผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดอาญาของผู้อื่นโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องขอรับค่าตอบแทนจากรัฐ ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 

            ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการขอรับเงินค่าตอบแทน และค่าทดแทน และค่าใช้จ่าย  สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

            แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริฯโดยตรง แต่ก็เป็นกฎหมายและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนและผู้เสียหายทุกคน

            ควรจะได้รับรู้รับทราบ และได้รับสิทธิ์ของตนเองตามกฎหมาย

            ข้อนี้ถือเป็นการช่วยเหลือ ประชาชนผู้เสียหาย โดยเฉพาะผู้หญิง และผู้ด้อยโอกาสที่เป็นขอบข่ายหน้าที่ภารกิจของสำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริฯ ที่ท่านผู้อำนวยการ คุณอัจฉราวรรณ  บุนนาค  เอาใจใส่ดูแลแนะนำ และประสานงานให้กับคณะญาติของครูดวงจิตต์อย่างครบถ้วน

            รวมถึงข้อกฎหมายอื่นๆเกี่ยวกับทางคดีและการช่วยเหลือนางดวงจิตต์ บุญพระ ที่ญาติและเพื่อนครูรวมถึงผู้บริหารโรงเรียนบอสโกพิทักษ์ได้รับคำแนะนำเป็นอย่างดีจากนายชนภัทร วินยาวัฒน์ และนายพายัพ สุพรรณโท จากสำนักงานอัยการจังหวัดนครปฐม ที่ประสานเข้ามาช่วยดูแลอีกแรง

            กรณีผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดอาญาของผู้อื่นโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะขอรับค่าตอบแทนจากรัฐ ได้ในกรณีดังนี้

            lได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากถูกทำร้าย ถูกฆ่าตาย ถูกลูกหลง ถูกทำให้แท้งลูก ถูกข่มขืน ถูกกระทำอนาจาร
            l ได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือตาย จากการกระทำโดยประมาทของผู้อื่น
            l เด็ก คนชรา คนป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และถูกทอดทิ้ง

            สิทธิการได้รับเงินช่วยเหลือของผู้เสียหาย แบ่งเป็น 2 กรณี คือ

            กรณีทั่วไป
l ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจ่ายจริง ไม่เกิน  30,000  บาท
l ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 20,000 บาท
l ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ อัตราวันละไม่เกิน 200 บาท ระยะเวลาไม่เกิน  1 ปี
l ค่าตอบแทนความเสียหายอื่น ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร ไม่เกิน  30,000 บาท
            กรณีเสียชีวิต
lค่าตอบแทน กรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ตั้งแต่ 30,000บาท แต่ไม่เกิน 100,000  บาท
l ค่าจัดการศพ จำนวน 20,000 บาท
lค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู ไม่เกิน 30,000  บาท
lค่าเสียหายอื่น ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 30,000บาท

            สำหรับขั้นตอนการยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือให้ปฏิบัติดังนี้
1.แจ้งความเพื่อดำเนินคดีต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ณ ท้องที่ที่เกิดเหตุ
2.พบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษา กรณีตายให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกใบมรณะบัตร
3.รวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
4.ยื่นคำขอรับเงินค่าตอบแทนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการกระทำผิด

            เรื่องข้อกฎหมายอย่างนี้ไม่ค่อยได้พบเห็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบและเข้าใจถึงสิทธิของตนเองมากนัก ทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามกฎหมาย

            แต่สำหรับกรณีนางดวงจิตต์ บุญพระ และลูกๆของเธอ นับว่าเป็นบุญที่ได้รับพระเมตตา และความเมตตาช่วยเหลือจากทุกฝ่ายในสังคม โดยเฉพาะสื่อมวลชนและผู้มีจิตอันเป็นกุศลที่ได้ให้การช่วยเหลือเธอในรูปแบบต่างๆ

            สุดท้ายท่านผู้อำนวยการ อัจฉราวรรณ  บุนนาค  ฝากมาถึงพ่อแม่ผู้ปกครองก็คือ การอบรมดูแลลูกหลานให้มีภูมิคุ้มกัน มีทักษะชีวิต ทักษะทางสังคม และทักษะอาชีพที่เด็ก และเยาวชนสามารถเรียนรู้ได้จากครอบครัว นอกจากการเรียนรู้จากโรงเรียนและสังคม

            ท่านบอกว่าอยากให้มีการจุดประกายให้เด็ก เยาวชนมีความหวังและมีเป้าหมายที่ชัดเจนในชีวิต เพื่อเป็นพลังให้เขามีความใฝ่ฝัน รู้จักบริหารเวลา รู้จักวางแผนและเพียรพยายามทำให้สำเร็จ

            สังคมไทยจะได้มีคนดี มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น เป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศชาติในอนาคต

            ที่สำคัญต้อง “เป็นผู้มีสติ ยั้งคิด ยั้งทำ และยุติการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงหรือการกระทำความรุนแรงอื่นๆในทุกรูปแบบ”ครับ

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

จะมีประโยชน์อะไร ที่ได้โลกเป็นกำไร แต่วิญญาณต้องเสียไป


ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ
         คนจำนวนมากในโลกนี้รู้จัก ยอห์น. ดี. ร็อคกี้เฟลเลอร์ ในฐานะ “ผู้ให้”ผู้เปลี่ยนเงินเป็นบุญ เปลี่ยนทุนเป็นธรรม

            ร็อคกี้เฟลเลอร์ บริจาคเงินหลายล้านเหรียญ เพื่อสร้างสันติสุขในโลกนี้

            เขาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปราบพยาธิปากขอจนหมดไปจากภาคใต้ของสหรัฐ อเมริกา

            เขาได้ตั้งมูลนิธิอันยิ่งใหญ่เพื่อเป็นประโยชน์แก่โลก นั่นคือ “รอคกี้เฟลเลอร์มูลนิธิ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ และเพื่อความสุขสวัสดีของมนุษยชาติ

มูลนิธินี้ได้ให้ทุนเพื่อการศึกษาค้นคว้าสิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งในวงการศึกษาและวงการแพทย์

เงินบริจาคหลายล้านเหรียญของเขา ก่อให้เกิดมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก เพื่อช่วยเหลือการศึกษาของชาวนิโกร

            ยารักษาโรคหลายชนิด เช่น เพนนิซิลิน, ยา ในการรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ก็เป็นผลงานของรอคกี้เฟลเลอร์มูลนิธิ

นอกจากนี้ รอคกี้เฟลเลอร์ยังร่วมบริจาคในการต่อสู้ทำลายโรคมาเลเรีย วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ โรคคอตีบ และโรคอื่นๆ อีกมาก ซึ่งระบาดอยู่ทั่วโลก

คุณูปการเหล่านี้เป็นอานิสงส์ให้ ยอห์น. ดี. ร็อคกี้เฟลเลอร์ กลายเป็นขวัญใจ เป็นต้นแบบ เป็นแรงบันดาลใจ และเป็นที่รักของคนทั้งโลก


แต่จะมีใครสักกี่คนที่รู้จักอดีตที่สุดแสนขมขื่นและอหังการของเขาในบทบาท “มหาเศรษฐีขี้ตืดขี้โมโห”ที่เต็มไปด้วย โทสะ โมหะ โลภะ เห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ มีกลเม็ดในการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น

จนถูกเกลียดชังจากผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเขา โดยเฉพาะจากญาติพี่น้องและบุคคลรอบข้าง

ช่างน่าสงสาร รอคกี้เฟลเลอร์ วัย 43 ปีมหาเศรษฐีของโลกผู้ก่อตั้ง บริษัทน้ำมันสแตนดาร์ดออยล์ (Standard Oil) บริษัทผูกขาดในการค้าน้ำมันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และมีรายได้ถึงสัปดาห์ละ 1ล้านเหรียญสหรัฐ  

แต่กลับไร้ซึ่งความสุขและความรัก...น่าสงสัยไหมครับว่าทำไม?

ตามประวัติระบุว่า มีคนชอบเขามีเพียงไม่กี่คน คนส่วนมากเกลียดเขาไม่ต้องการติดต่อเกี่ยวข้องกับเขาไม่ว่าในทางธุรกิจหรือ ในทางใดๆ

แม้แต่น้องชายของเขาเองก็เกลียดเขา จนถึงกับพาลูกๆ ออกไปจากบ้านประจำตระกูลซึ่งรอคกี้เฟลเลอร์สร้างขึ้น

 ถามว่าตอนนั้น รอคกี้เฟลเลอร์ อยากให้คนทั้งหลายรักเขาไหม?

คำตอบ คือ อยากสิครับ

แต่ดูเหมือนความรวย ความเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ ชอบเอารัดเอาเปรียบ ความเกรี้ยวกราด ความเครียดแค้นชิงชัง ความขี้ระแวงสงสัย มุ่งคิดแต่จะทำลายคู่ต่อสู้ไม่ว่าในทางธุรกิจ หรือในวิถีชีวิตด้วยความอิจฉาริษยา หรือ ความวิตกกังวลไม่สิ้นสุดในแต่ละวัน

ได้เผาผลาญความอ่อนน้อม ความเมตตากรุณา ความน่ารัก น่าเคารพ มนต์เสน่ห์แห่งการคบหาในตัวของเขา ไปจนหมดสิ้น

กิเลสตัณหาเหล่านี้ส่งผลให้ รอคกี้เฟลเลอร์ เป็น “ผู้ที่มีคนเกลียดชังมากที่สุดในโลก”ถึงขนาดต้องมีองครักษ์คอยพิทักษ์ชีวิตของเขามาแล้ว

       กระทั่ง รอคกี้เฟลเลอร์ ต้องเผชิญหน้ากับ ความเจ็บป่วยปางตายเมื่ออายุเขาได้ 53 ปี สุขภาพของเขาเสื่อมโทรมมาก  เพราะอุปนิสัยไร้สุขขี้เหนียวขี้ตืดขี้โมโหของเขานั่นเอง

       เขานอนไม่หลับ ป่วยเป็นโรคเครื่องย่อยอาหารพิการอย่างรุนแรง จิตใจของเขาสุมอยู่ด้วยความทุกข์ร้อนกระสับกระส่าย จนผมร่วง หัวล้าน ขนตาและที่อื่นๆ ก็ร่วง  

 แพทย์ ได้บอกความจริงกับเขาว่า ขอให้เขาเลือกเอาอย่างหนึ่ง คือ ธุรกิจการเงินหรือชีวิต และจะต้องตัดสินใจเลือกอย่างรวดเร็วด้วย ถ้าเขาเลือกเอาชีวิตไว้ ขอให้เลิกงานด้านธุรกิจอย่างเด็ดขาด มิฉะนั้นเขาจะต้องตายอย่างแน่นอน

 
         รอคกี้เฟลเลอร์ เลือกเอาชีวิตตนเองไว้ หยุดงานธุรกิจ หันมาสนใจเรื่องของเพื่อนบ้าน เล่นกีฬาในร่มเล็กๆ น้อยๆ และมีเวลาเหลือเฟือที่จะคำนึงถึงสิ่งต่างๆ

เขาเริ่มคิดถึงผู้อื่น เลิกคิดถึงเรื่องการกอบโกยเงิน

เขากลับคิดใหม่ว่า เขาจะต้องใช้เงินจำนวนสักเท่าใด จึงจะสามารถสร้างความสุขให้ปวงมนุษย์ในโลกได้

            ในที่สุดเขาได้เปลี่ยนชีวิตของเขาจากความหน้าเลือดเห็นแก่ได้เอารัดเอา เปรียบมาเป็นผู้เสียสละ บำเพ็ญประโยชน์เพื่อความสุขของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ยอห์น. ดี. รอคกี้เฟลเลอร์ ผู้ซึ่งกำลังจะตายเมื่ออายุ 53 ปี กลับเป็นผู้มีอายุยืนยาวถึง 98 ปี ได้อย่างน่าอัศจรรย์

เขากลายเป็นผู้มีความสุขความสงบแห่งจิตใจ

เขาเปลี่ยนคนเกลียดชังให้รักใคร่เขาได้ทั้งโลก เพราะเขาเปลี่ยนแปลงแนวคิด การกระทำของเขาให้เป็นประโยชน์แก่คนทั้งหลาย ทำความดีและเพิ่มพูนความดีอยู่เรื่อยๆ

            นักธุรกิจ นักการเมือง นักปกครอง ข้าราชการ และเพื่อนมนุษย์ที่รักทั้งหลาย มีตาก็จงดู มีหูก็จงฟัง โปรดไตร่ตรองเอาเองเถิดว่า...

ท่านจะจัดการกับวิถีชีวิตแห่งตนเพื่อประโยชน์สุขของเพื่อนมนุษย์อย่างไร
                                                                                       (ขอบคุณข้อมูลจาก กลุ่มคนจุดตะเกียง+PAD N.E.)