จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ครูพันธุ์ใหม่-วันครู

                                                                     ใครเห็นด้วยยกมือขึ้น
    ดูเหมือนสังคมไทยและการศึกษาไทยในยุคนี้ กำลังโหยหา “ครูพันธุ์ใหม่ที่ดีและเก่ง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมการศึกษา และเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
        โดยเฉพาะกระบวนการเรียนรู้ พฤติกรรมและลักษณะนิสัยของเด็ก หรือผู้เรียนนั้นมีความสำคัญและสัมพันธ์อย่างมากกับกระบวนการเรียนการสอน การอบรมของครู และการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
       เหมือนดังนิทาน เรื่องลูกนกแขกเต้าสองตัวใน มงคลสูตร ของพระพุทธเจ้า ที่ถูกลมพัดไปตกยังที่ต่างกัน ตัวหนึ่งตกในชุมโจร มันจึงพูดจาหยาบคาย เลียนเสียงขุนโจรที่เจรจาโต้ตอบกัน ส่วนอีกตัวหนึ่งไปตกอยู่ที่กอดอกไม้ริมอาศรมของพวกฤษี มันพูดจาไพเราะ เป็นนกที่ดูดีมีสกุล เพราะพวกฤษี ทั้งสอนและถือศีลปฏิบัติธรรมให้เห็นอยู่เป็นนิจ
ดอนบอสโก บิดาและอาจารย์เยาวชน
     
    ดังนั้นครู คือ “ผู้สอน” หรือ “ผู้อบรมรมสั่งสอน” หรือ “ผู้จัดประสบการณ์การเรียนรู้”ให้เด็กหรือผู้เรียน จึงต้องเป็นครูที่ดี และเก่ง และจำต้องเป็นได้ทั้งครู-พ่อแม่และสภาพแวดล้อมที่ดีของผู้เรียน 
          คำถามก็คือ ครูที่ดีและเก่งนั้น ควรมีคุณลักษณะอย่างไร?
          “ครูที่ดีและเก่ง” ในมุมมองของผม ต้องเป็น ครูที่สอนดี มีทั้งภูมิรู้และภูมิธรรม มีศิลปะในการสอนและการอบรมผู้เรียน สามารถนำหลักสูตรไปสู่การเรียนการสอนในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
         คือต้อง  “ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย”ได้  ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้เร็วและสนุกสนาน ประทับใจ จดจำได้นาน มีทักษะชีวิต และนำความรู้ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
          ไม่ใช่สอนไปวันๆ หรือสอนเพื่อสอบแล้วทิ้ง
          ครูที่ดีต้องเก่งสอบเก่งสอน“มีการสอบเพื่อสอนและพัฒนา” ไม่ใช่ “สอนเพื่อทำข้อสอบ เสร็จแล้วเด็กก็ลืม” ครูที่ดีและเก่งต้องนำผลหรือสารสนเทศจากการประเมินผลทั้งก่อน-ระหว่างและหลังการสอน มาใช้พัฒนาการเรียนการสอน และคุณภาพผู้เรียนให้ดีมีคุณภาพยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบ
           ครูที่ดีและเก่ง ต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีชีวิตชีวา โดยใช้ “สื่อ-แหล่งเรียนรู้-เทคนิคและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการนำเสนอและเน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมลงมือปฏิบัติ ฝึกหัดทำจริง           “ชวนให้คิดสะกิดให้ถาม” โดยใช้ “ข้อมูล-ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม-สถานการณ์จริง” ท้าทายให้นักเรียน “คิดต่างแต่(คิด)ดี”   
            ครูที่ดีและเก่ง ต้องส่งเสริมกระบวนการร่วมคิดแบบ “แบ-กบาล” บูรณาการ ความรู้   ทักษะกระบวนการและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ รอบด้านและเรียบง่าย 
            ทั้งสอนและอบรมให้ผู้เรียนเป็นคนดีและคนเก่ง เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ครบครันทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต มีสุนทรียในชีวิต มีความฉลาดทางอารมณ์ และมีทักษะทางสังคม ไม่เป็นคนแล้งน้ำใจ ไร้ระเบียบวินัยและความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของเด็กไทยในปัจจุบัน
          ครูที่ดีและเก่ง ต้องเป็นทั้ง“ครูผู้สอนและนักอบรมบ่มนิสัย” ที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีแนวคิดและทักษะเชิงบวก  คิดเชิงบวก สอนเชิงบวก อบรมเชิงบวกและลงโทษเชิงบวก  ไม่ชอบพูดมาก แต่ชอบทำ-ปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้ดู รวมทั้งด้าน “รักการอ่าน รักการเรียนรู้ การอยู่อย่างพอเพียง และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ระดับคุณภาพที่ดีกว่า” มีคุณธรรมจริยธรรมเหมาะสม ตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ
            อบรมสั่งสอนเด็กด้วยความรัก ความเมตตา ด้วยหลักคุณธรรมและหลักเหตุผล แม้ว่าเด็กจะหยาบคาย ร้ายกาจ ไร้วุฒิภาวะและทักษะการเรียนรู้ เหมือนเรื่องจริงในศตวรรษที่ 18  ของ นักบุญยอห์น บอสโก “บิดา อาจารย์และเพื่อนของเยาวชน” ผู้ปฏิบัติระบบป้องกัน(PREVENTIVE SYSTEM) ในการอบรมเลี้ยงดูเด็กกำพร้า เร่ร่อน ยากจน เกเรสารพัดรูปแบบ ให้กลับกลายเป็นคนดี เป็นพลเมืองดี เป็นนักบวชที่ดี ได้อย่างน่าทึ่ง
ที่มา : นิตยสารดอนบอสโก
                                                                                                                                       
            วิธีการอบรมแบบป้องกัน การสร้างเครือข่ายองค์กรและวัฒนธรรมความเป็นครูที่อาจเรียกว่า “เป็นเทวดารักษาตัว”ของท่าน ยังคงทรงอิทธิพลอยู่ในรูปแบบของการสอนการอบรมในโรงเรียนคาทอลิกของคณะซาเลเซียน และคณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์มาจวบจนปัจจุบัน อาทิเช่น โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย และโรงเรียนนารีวุฒิ ราชบุรี โรงเรียนเซนต์ดอมินิก กรุงเทพฯ โรงเรียนแสงทอง หาดใหญ่ สงขลา ฯลฯเป็นต้น
            และคาดว่าจะยังคงเป็นจิตตารมณ์ หรืออุดมการณ์ หรือปณิธาน ในการอบรมเด็ก เยาวชนทั้งหลายต่อไปอีก
            ดังเช่นการปฏิบัติหน้าที่และวิชาชีพครูด้วยความรัก ความอดทน ความขยันหมั่นเพียร  ความเสียสละ      และความมุ่งมั่น ที่จะทำทุกอย่างด้วยความรักความจริงใจ  พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นกัลยาณมิตร ที่หมั่นถักทอ “เครือข่ายความคิดพันธมิตรความรู้” เพื่อประโยชน์ของลูกศิษย์-การศึกษาและสังคมไทยให้ก้าวไปได้อย่างมั่นคงและมั่นใจ ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
            ในมุมมองของผม ไม่ว่าครูท่านนั้นจะยึดแนวทางใด “พุทธ หรือคริสต์ หรือศาสนาอื่นใด” ผมคิดว่าทุกท่านสามารถพัฒนาตนเองให้เป็น“ครูพันธุ์ใหม่”เป็นครูที่ยึดหลักคุณธรรม และความรักเมตตาอันเป็นแก่นแกนของ “จิตวิญญาณความเป็นครู” ได้
             ใครเห็นด้วย ช่วยยกมือขึ้นด้วยครับ
                                      ธัญญา ศิโรรัตน์ธัญโชค ASC.
                                       THANYA2555@GMAIL.COM

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น