สงครามและความหวัง
ทุกๆปีในเดือนมกราคม ผมจะตั้งปฏิทินชีวิตไว้จะต้องอ่านชีวประวัติของนักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองตุริน ที่ยอมพลีทั้งชีวิตเพื่ออบรม และเลี้ยงดูเด็กยากจน เด็กเร่ร่อน ซึ่งบางรายก็เข้าข่ายอันธพาลให้กลับตัวกลับใจเป็นคนดี เป็นพลเมืองที่ดีของชาติบ้านเมือง
ภาพจากนิตยสารดอนบอสโก ธ.ค.54 |
เพื่อเติมเชื้อไฟในหัวใจของผมให้มันลุกโชติช่วงและมีพลังอยู่เสมอในการดำเนินชีวิตนี้
และผมก็คิดเออออเอาเองว่า สังคมในยุคนี้ สถาบันครอบครัวในเวลานี้ต้องการพ่อแม่ และครูที่มีอุดมคติ(อุดมการณ์) หรือปณิธานแบบท่านนักบุญท่านนี้
ที่ผมต้องคิดอย่างนั้นก็เพราะมันมีเหตุปัจจัย ปัญหาและสถานการณ์เกี่ยวกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษาอบรม ที่ใช้เทียบเคียงกันได้จนแทบจะแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกันก็ว่าได้
ถ้าหากว่าวัฒนธรรมสังคมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไม่ก้าวมาไกลสุดกู่เหมือนทุกวันนี้
ท่ามกลางเหตุการณ์ที่อาจเรียกว่า สงครามกลางเมือง หรือ สงครามยุคปฏิรูปในยุโรปในปี ค.ศ.1848 นั้น ท่านนึกภาพออกหรือไม่ว่าลำพังนักบวชคาทอลิกที่ยากจนคนหนึ่ง กับมารดาที่ชรามากแล้วของตน สามารถที่จะปกป้องเด็กเยาวชนในการดูแลของท่านให้รอดพ้นจากเภทภัยของสงคราม อิทธิพลของการเมืองและความเลวร้ายของสังคมที่เสื่อมทรามได้อย่างไร?
เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นผมขอเล่าโดยสรุปง่ายๆดังนี้
ในช่วงปี ค.ศ.1848 นั้นยุโรปแบ่งออกเป็น 3 พวก คือ พวกเสรีนิยมที่เรียกร้องประชาธิปไตย พวกชาตินิยมที่เรียกร้องอิสรภาพจากจักรวรรดิออสเตรเลีย และพวกกรรมกรที่ต้องการปฏิรูปการจ้างงาน ทั้ง 3 พวกนี้แหละที่ก่อหวอด เรียกร้อง ฆ่าฟันเพื่อล้มล้างระบอบกษัตริย์ ต่อสู้กันทุกรูปแบบจนเกิดโกลาหลสับสนวุ่นวายไปทั่วทั้งราชอาณาจักรและศาสนจักร
ตามท้องถนนมีแต่เสียงตะโกนเรียกร้อง “สงคราม สงคราม และสงคราม..”
นักบุญยอห์น บอสโก |
ในประวัติของท่านนักบุญยอห์นบอสโกเล่าว่า บรรดาเยาวชนที่กระหายสงครามใช้ทั้งมีด ปืนผาหน้าไม้ ก้อนอิฐก้อนหิน เป็นอาวุธเข้าประหัตประหารกันไม่เว้นแต่ละวัน
บรรดานักบวช และวัดวาอารามที่พักถูกบุกเข้ายึดขับไล่ ชนิดไม่รู้บาปบุญคุณโทษกันล่ะ
เวลานั้นท่านนักบุญได้ใช้ศูนย์เยาวชน ที่วัลด็อกโกเป็นสถานที่ดูแลเด็กๆของท่าน และท่านก็มีเพื่อนคนหนึ่งเป็นนายทหารชื่อ นายยอแซฟ โบรซีอา
วันหนึ่งนายยอแซฟคนนี้ก็แต่งชุดทหารเต็มยศ เดินด้วยท่าทีองอาจมาที่ศูนย์เยาวชนของท่าน ทำให้ท่านนักบุญเกิดความคิดที่ “จะใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส” และแปลง “ปัญหาให้เป็นปัญญา” เพื่อประโยชน์แก่เด็กๆและเยาวชนทั้งหลายที่กำลังตกอยู่ในภาวะแวดล้อมของสงคราม
ท่านนักบุญจึงเสนอให้นายยอแซฟเป็นครูฝึกการละเล่นแบบใหม่(ในเวลานั้น)สำหรับเด็กหนุ่มวัยรุ่นที่กำลังถูกกระแสสงคราม และสังคมที่เสื่อมทรามรุกคืบเข้าครอบงำจิตใจอยู่
นายยอแซฟจึงเปิดรับสมัครเด็กหนุ่มเยาวชนทั้งหลาย เข้ามาสังกัดกองทัพน้อยๆในศูนย์เยาวชนวัลด็อกโก จากนั้นใช้ปืน(จริงเก่าๆของทางราชการ)ติดลำกล้องไม้(จึงยิงไม่ได้) ให้เป็นอาวุธประจำกายของเด็กหนุ่มผู้ห้าวหาญทั้งหลาย
จากนั้นก็เริ่มฝึกระเบียบแถว กำลังกาย การรุกการรับ ซ้อมรบกันเองอุตลุดวันแล้ววันเล่า(ตามยุทธวิธีทหารหรือเสือป่า ว่าอย่างงั้นก็น่าจะได้)จนเด็กหนุ่มเกิดความแคล่วคล่องว่องไว เป็นระเบียบ และมีวินัยในตัวเองกันถ้วนทั่ว
ภาพจากนิตยสารดอนบอสโก ธ.ค.54 |
ฝ่ายท่านนักบุญก็เติมพลังฝ่ายคุณธรรม จิตวิญญาณ ความรักดีให้กับกองกำลังน้อยๆตามวิธีการที่ท่านถนัดก็คือ ชวนให้สวดภาวนาขอบคุณพระเจ้า เล่าเรื่องสั้น(นิทาน)เตือนจิตใจ เอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด ด้วยความรัก ความอ่อนโยน และความรู้ความเข้าใจเด็กแต่ละคนเป็นอย่างดี
เหมือนการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และระบบดูแลช่วยเหลือเด็กเป็นรายบุคคลของ กระทรวงศึกษาธิการนั่นแหละครับ จะแตกต่างกันก็ตรงที่ท่านนักบุญท่านทำจริงทำจังทำด้วยชีวิตและจิตมุ่งมั่นในความรักที่จะช่วยให้เด็กของท่านได้รอดปลอดภัยทั้งกายและวิญญาณ
และท่านเรียกวิธีการง่ายๆในการอบรมดูแลเด็กเยาวชนของท่านว่า “ระบบป้องกัน”(Preventive System)กล่าวคือ ท่านจะหาวิธีดูแลป้องกันก่อนที่เด็กจะสร้างปัญหา หรือมีปัญหา
ท่านไม่รอให้เด็กก่อปัญหา หรือทำผิดแล้วมาตามแก้อย่างที่พ่อแม่ในสังคมปัจจุบันมักทำกัน(คือถ้าไม่มีปัญหาก็ยังไม่คิดทำอะไร จนกว่าปัญหาจะเกิด เช่น ลูกติดยา ติดเกมส์ เกเรหนีเรียนฯลฯ แล้วจึงมาหาทางแก้ไขภายหลัง)
แต่ท่านนักบุญทำทั้ง “รุกและรับอย่างเข้าใจเด็กเยาวชนและสังคม” ท่านจึงชนะโดยไม่ต้องรบไงครับ
งานวิจัยของสถาบันรามจิตติ(2554) พบว่าเด็กและเยาวชนในปัจจุบันนี้ มี “จุดอันตราย” อยู่ในช่วงมัธยมต้น โดยช่วง ม.2-ม.3 เป็นช่วงที่วิกฤตสุดหากเด็กสามารถผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ ก็จะสามารถปรับตัวและมีทักษะชีวิตที่ดี ตัดสินใจทำสิ่งที่ถูกต้อง เป็นเหตุเป็นผลได้ดีขึ้น
และต้นเหตุสำคัญก็คือ “พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก” มีเด็ก 10-15% ตกเย็นเลิกเรียนกลับมาแล้วต้องอยู่บ้านคนเดียวอยู่กับทีวี เกมส์ อินเทอร์เน็ตฯลฯที่มีสารพัดทั้งประโยชน์ โทษภัย สิ่งยั่วยุ-ลามกและมอมเมา ซึ่งเด็กแยกแยะเองไม่ได้ หรือหลงผิดได้โดยไม่รู้ตัว
ที่สุดก็กลายเป็นโรค “สำลักเสรีภาพ” คิดว่าข้าฯทำอะไรก็ได้ ถ้าใจต้องการ โดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ คุณธรรมและสิทธิของผู้อื่น แม้แต่พ่อแม่ยังเตือนยังสอนไม่ได้ไม่ฟัง
ผู้อ่านท่านใดที่อยากรู้เรื่องของท่านนักบุญยอห์นบอสโก และ“ระบบป้องกัน”(Preventive System) โดยละเอียดสามารถถามอาจารย์ google หรือเข้าไปดูได้ที่ www.youtobe มีทั้งเป็นคลิปภาพยนตร์ และหนังสือให้อ่านกันหลายเวอร์ชั่นครับ
Thanya2555@gmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น