กฎ-น้ำ-ยา อะไรก่อนหลัง หรือ “ไม่มีน้ำยา”
ตั้งแต่เริ่มปีพุทธศักราชใหม่มาได้เกือบเดือน ต้องถือว่า “ข่าวยาเสพติด”ได้ยึดพื้นที่ข่าวในทุกช่องทางการสื่อสารไว้ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว
แสดงให้เห็นถึงการเอาจริงเอาจังของรัฐบาลและหน่วยงานที่มีหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดอันเป็นพิษภัยต่อสังคมและการพัฒนาประเทศ
ภาพจาก นสพ.มติชนรายวัน (24 ม.ค.55น.3) |
แม้ว่า “ข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” กฎหมายสูงสุดของประเทศ จะร้อนแรงเพียงใด(ในทางการเมือง)ก็ยังถูกนำเสนอน้อยกว่า
เหมือนกับมีกลจงใจให้ข่าวยาเสพติดดังโหมเหนือข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (สังเกตจากลากเอาข่าวดารานักแสดงและนักการเมืองพรรคคู่แข่งมาแถลงเพื่อเติมเชื้อประเด็นความสนใจของชาวบ้าน)
ขนาด “ข่าวน้องน้ำที่ว่ามาแรงมากๆ” เพราะชาวบ้านยังตื่นตระหนกกับมหาอุทกภัยไม่หาย รวมทั้งมีแรงบวกมาจากภาคเอกชนและนักลงทุนทางธุรกิจ โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ต้องการเห็นความชัดเจนถึงยุทธศาสตร์ แผนและมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันน้ำท่วม
ยังแผ่วลงไปเมื่อเจอกับความร้อนแรงของ “ข่าวยาเสพติด”
อันที่จริงแล้วก็อาจจะไม่ได้แปลกอะไร เพราะสื่อมวลชนไทย(รวมถึงสื่อท้องถิ่นอย่างผมด้วย)ก็มักชอบเล่นข่าวตามกระแสอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้รู้สึกเหมือนมีกระบวนการปลุกปั้นข่าวให้ดังกลบกระแสการเมือง และเศรษฐกิจที่กำลังตกอยู่ในวังวนของวิกฤติเศรษฐกิจโลก
ซึ่งอย่างไรเสียอาเซียนและประเทศไทย ก็คงหนีไม่พ้นอิทธิพลของผลกระทบที่เปรียบเสมือนโดมิโน่ที่ล้มไล่กันไปมาเป็นรอบๆไป ประมาณ 10-15 ปีครั้ง ส่วนจะเสียหายมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ ณ ห้วงวิกฤตกาลนั้นปรากฎขึ้น
ไม่เช่นนั้น ดร.โก่ง นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.)คงไม่ออกอาการลมออกหู เมื่อถูกขวางแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการหนี้สาธารณะของประเทศ
ซึ่ง ดร.โก่ง ท่านต้องการใช้เทคนิคการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นในส่วนของกระทรวงการคลังถืออยู่ 51% ให้เหลือเพียง 49% เพื่อให้ตัวเลขหนี้รัฐวิสาหกิจถูกดึงออกจากหนี้สาธารณะ ที่ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 4.30 ล้านบาท (ณ เดือน พ.ย.54) ได้ถึง 9 แสนล้านบาท (เป็นภาระหนี้ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) 7 แสนล้านบาท และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อีก 2 แสนล้านบาท)
เหตุผลที่อ้างกันก็คือ เพื่อลดความเสี่ยงของประเทศซึ่งหากต้องแบกภาระหนี้สินจำนวนมากไว้เป็นเวลานาน จนอาจไม่สามารถใช้คืนได้ในอนาคต หากจะต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ หรือภัยพิบัติซ้ำซาก (ส่วนหุ้นอีก 2%เปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาช้อนซื้อกันในตลาด ซึ่งสุดท้ายก็ต้องตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในไม่ช้าอย่างแน่นอน)
และเพื่อจะได้ผันเงินมาฟื้นฟูพัฒนาประเทศได้ถนัดมือมากขึ้น
กลับมาที่ “ข่าวน้องน้ำ”ซึ่งมีเสียงทั้งเตือนและฟันธงทั้งจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำและโหราจารย์ทั้งสายไทยและจีนว่า ปี 2555นี้ มังกรน้ำแผลงฤทธิ์มีสิทธิ์เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกแน่ๆ
เป็นต้นผู้ที่สังคมให้ความเชื่อถืออย่างท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และท่าน ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งออกมาพูดในเวลาไร่เรี่ยกันในทำนองเดียวกันว่า
รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร)และส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันน้ำท่วมจะทำชักช้าอยู่ไม่ได้แล้ว ต้องเร่งขุดลอกคู คลอง หนอง บึงที่ตื้นเขิน ต้องวางแผนหาทางให้น้ำไป ระบายออกสู่ทะเลได้สะดวก หรือให้สามารถเป็นแกมลิงรองรับน้ำเพียงพอไม่ให้ท่วมเรือกสวนไร่นาบ้านเรือนประชาชนเหมือนเมื่อปีที่แล้วอีก
เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนก็จะเข้าหน้าฝนแล้ว ถ้าขืนยังมัวตกอยู่ในความประมาท ปล่อยให้วันคืนผ่านล่วงเลยไป โดยไม่คิดทำการอันใดให้เป็นชิ้นเป็นอัน
ไม่มีใครหน่วยงานไหนรับเป็นเจ้าภาพ ไม่มีแผนป้องกันน้ำท่วมที่ชัดเจนออกมาทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศ หรือไปลุกรี้ลุกรนทำกันแบบฉุกละหุกไร้กระบวนท่า เมื่อภัยมาถึงตัว ก็ไม่ทันการณ์แล้ว(แถมการเยียวยาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาก็ล่าช้าอีกด้วย)
“น้องน้ำ”ที่คาดเดากันว่าจะมาแน่ในปีนี้ ก็คงทำให้ทรัพย์สินชาวบ้านฉิบหายและทำลายเศรษฐกิจของประเทศ(ไปพร้อมกับรัฐบาล/ผู้บริหารท้องถิ่น)ให้ย่อยยับอัปราชัยได้อีกครั้ง
มาถึงบรรทัดนี้สรุปว่า ไม่ว่าใครจะทำให้ข่าวไหนดังกว่าข่าวไหน เพื่อกลบข่าวไหน คงไม่ใช่ประเด็นใหญ่เสียแล้วครับ
ประเด็นใหญ่น่าจะอยู่ที่ “กึ๋น”ของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศและประชาชนผ่านพ้นวิกฤตการเมือง-ยาเสพติด-น้ำท่วมและวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะคืบคลานเข้ามาได้อย่างไร
รวมทั้งจะต่อยอดพัฒนาศักยภาพและยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทสและประชาชนในเวทีระดับชาติ-อาเซียนและระดับโลกได้อย่างเข้มแข็งหรือไม่ มากกว่าใช่ไหมครับ?
Thanya2555@gmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น