จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แค่คิดไปเอง หรือเรื่องจริงอิงนิยาย


เวที “ประชาเสวนา” เพื่อปรองดอง 
หรือแค่ภาพลวงตา
            
    คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.)มีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการจัดทำเวที “ประชาเสวนา”แบ่งเป็นระดับตำบล/ชุมชน และระดับจังหวัด ในกรุงเทพมหานครและ 76 จังหวัดทั่วไทย  เพื่อค้นหาข้อคิดเห็นในภาพรวมว่า

          ความขัดแย้งของคนไทยเกิดจากสาเหตุใด และมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการการแก้ไขอย่างไร
         
          จากนั้นก็รวบรวมข้อมูลความคิดเห็นส่งให้ สถาบันราชภัฎสวนดุสิต ประมวลเป็นภาพรวมของแต่ละจังหวัด
          
         โดยในกรุงเทพมหานครกำหนดให้จัดเวทีให้แล้วเสร็จภายใน 21 พฤษภาคม 2555
       
         ส่วนในภูมิภาคที่เหลืออีก 76 จังหวัด ให้ประธานศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนจังหวัด ร่วมกับประธานชมรมหรือนายกสมาคม ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนทุกจังหวัด ร่วมกันจัดเวทีประชาเสวนาระดับจังหวัด ระหว่าง 5-19 มิถุนายน 2555 และนำส่งรายงานให้กรมการพัฒนาชุมชนภายใน 20 มิถุนายน

          ในการจัดทำเวทีประชาเสวนาเน้นให้มีการประสานและสนับสนุนให้ “ประชาชน”ในทุกหมู่บ้านได้มีส่วนร่วม สร้างสรรค์ และค้นหาสาเหตุของความขัดแย้ง และแนวทางการแก้ไข เพื่อการสร้างความปรองดอง มิให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีกในสังคมไทย

          ฟังดูแล้วเหมือนดีไปหมด การจัดเวทีจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ราบรื่น ประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีความพร้อมที่จะมาประชุมให้ความคิดเห็น ให้การร่วมมือเป็นอย่างดี   กระทรวงมหาดไทยจึงเร่งกำหนดการจัดเวทีให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 14-15 วัน

          แต่ในความเป็นจริง ในสถานการณ์จริงจะบรรลุวัตถุประสงค์ เป็นไปตามหลักการและความคาดหวังที่ คอป.และกระทรวงมหาดไทยวางไว้จริงหรือ ?

       ประการหนึ่ง ที่พึงควรนำมาใคร่ครวญอย่างมากใน หลักการมีส่วนร่วม และการดำเนินการ คือ กระบวนการสร้างความตระหนักและการรับรู้ของประชาชน(ทั่วไป) และประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ในการจัดทำเวทีประชาเสวนามีมากน้อยเพียงไร

          ถ้าการดำเนินการมีอยู่น้อย หรือไม่มีกระบวนการดังกล่าวอยู่เลยแม้แต่น้อย คำถามก็คือ ข้อมูลความคิดเห็นที่ได้จากเวทีประชาเสวนา มีความน่าเชื่อถือในเชิงเหตุผล และวิธีการมากน้อยเพียงไร หรือ ไม่มีอยู่เลย

          พูดให้ชัดก็หมายความว่า ข้อมูลจากเวทีประชาเสวนา ไม่มีความน่าเชื่อถือ และไม่น่าจะนำไปสู่แนวทางในการสร้างความปรองดองในสังคมไทยให้เป็นจริงได้

         เหตุเพราะความขัดแย้ง และการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องอารมณ์ความรู้สึกระดับบุคคล ในชุมชน /ตำบลเท่านั้น

          หากแต่เป็นเรื่องปัจจัยแวดล้อม เรื่องของเจตนิยมและผลประโยชน์ทางการเมืองที่ซับซ้อน ซ่อนเงื่อนเหมือนเข็มซ่อนพราย ถูกกระตุ้น ปลุกเร้าให้ตื่นตัวหรือเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ และวัตถุประสงค์ของกลุ่มการเมืองที่มีอิทธิพลอยู่เหนือความรู้สึกได้ตลอดเวลา

          กรณีที่น่าศึกษา คือ ภาพความวุ่นวาย เสียดสีด่าทอ ไร้เหตุผลของผู้แทนปวงชนในการประชุมรัฐสภาและการใช้กฎหมู่ ข่มขู่ ข่มขวัญ “ตั๊ก-บงกช” หลังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอากง และการต่อต้านการเปิดหมู่บ้านคนเสื้อแดงที่จังหวัดภูเก็ตและสงขลา ซึ่งล้วนเป็นการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาที่เห็นได้ชัดเจน

การควาน หรือ คลำหาเหตุผล โดยขาดกระบวนการสร้างความตระหนักและรับรู้ข้อเท็จจริงที่ควรจะเป็น จากเวทีประชาเสวนา จึงไม่น่าจะเกิดผลที่นำไปใช้สร้างสรรค์สังคมแห่งการปรองดองได้จริง

           อีกประการหนึ่ง ที่พึงพิจารณาในหลักการสร้างสรรค์ คือ  การให้ความสำคัญกับการตกผลึกในสาเหตุและแนวทางการแก้ไขความขัดแย้ง หรือการสร้างความปรองดอง ในระดับหมู่บ้าน ชุมชน/ตำบล มากกว่าการสรุปภาพรวมระดับจังหวัด

       ความหลากหลายและความแตกต่างทางความคิด เป็นความงดงามของความเป็นประชาธิปไตยก็จริงอยู่ 

          แต่กระบวนการสร้างสรรค์ให้ ความหลากหลายและความแตกต่างทางความคิดและวัฒนธรรมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเพื่อสร้างความปรองดอง ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ในทำนอง “เป้าหมายเดียวกัน แต่หลากหลายวิธีคิด วิธีปฏิบัติ” สำคัญยิ่งกว่า

          เหตุเพราะข้อเท็จจริงประการหนึ่งของความขัดแย้งลุกลามเข้าไปในครอบครัว ในหมู่บ้าน ชุมชน ที่มีความหลากหลายแตกต่างกันทั้งเชื้อชาติ ศาสนา อาชีพ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อและข้อมูลความรู้ 

          ในครอบครัวเดียวกันยังคิดเห็นไม่เหมือนกัน ขัดแย้งกัน ทะเลาะเบาะแว้ง ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา แล้วเราจะเอานิยายอะไรกับข้อสรุปภาพรวมในระดับจังหวัด ถ้าหากเวทีประชาเสวนาก้าวข้ามความสำคัญและการให้ความสนใจกับความหลากหลายและการตกผลึกทางความคิดร่วมกันของประชาชนผู้เข้าร่วมเวทีเสวนา

          กล่าวคือ อย่าหยิบเบี้ยใกล้มือ ไม่ใช่เลือกเอาเฉพาะกลุ่มที่รู้จัก หรือพวกใครพวกมันมาร่วมเวที

          แต่ต้องให้หลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่ม อาชีพ ศาสนา-ความเชื่อ  วัฒนธรรม ประเพณี ในพื้นที่ของหมู่บ้าน และชุมชน

       สามารถเป็นตัวแทนของปัญหา และมีเวลาในการรับฟัง พูดคุยถึงสาเหตุและแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพื่อสร้างความปรองดองมากพอสมควร

          เรื่องไหนประเด็นใดที่เวทีมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ยังไม่ได้ข้อสรุปที่เห็นพ้องกัน ควรจะมีเวลาในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำมาปรึกษาหารือซ้ำในเวทีจนได้ข้อยุติที่เห็นพ้องต้องกันจริงๆ

          ไม่ใช่ทำกันลวกๆ ขอเพียงให้ผ่านๆไป จัดเอง คิดเอง เออเอง สรุปเอง

          สุดท้ายความขัดแย้งยังคงอยู่ หรือไม่ก็ยิ่งบานปลาย แต่งบประมาณถูกละลายแม่น้ำหมดไปแล้ว ได้ประโยชน์ไม่คุ้มทุน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น